มีการศึกษาพบจำนวนชนิดของด้วงมากกว่า 400,000 ชนิด (species) หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของชนิดแมลง และ 25% ของชนิดสัตว์โลกที่รู้จักทั้งหมด แต่กระนั้นก็ยังมีการค้นพบชนิดใหม่ๆอยู่เสมอ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่า อาจมีจำนวนชนิดของด้วงมากถึง 9 แสน จนถึง 2 ล้านชนิดเลยทีเดียว

ด้วยความหลากหลายของชนิดแมลงปีกแข็งนี้ ทำให้พบชนิดของด้วงที่เป็นศัตรูพืช เช่น ด้วงมันฝรั่งโคโลราโด ด้วงผัก ด้วงแรดมะพร้าว เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติของด้วงเป็นปัจจัยหลัก แต่เกิดจากระบบการปลูกพืชสมัยใหม่ เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดของด้วงศัตรูพืช

ในขณะเดียวกัน ในธรรมชาติก็มีด้วงอีกหลากหลายชนิดที่เป็นแมลงที่มีประโยชน์คอยกินแมลงที่เป็นศัตรูพืช เช่น

  • แมลงเต่าทอง Coccinella septempunctata เป็นแมลงตัวห้ำที่คอยจับกินศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยอ่อนในแปลงเกษตร เพลี้ยแป้ง รวมทั้งอาจกินหนอนผีเสื้อตัวเล็ก และตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืชอื่นๆ
  • ด้วงดิน (Carabidae) เป็นศัตรูตัวฉกาจของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น ไข่แมลงวัน หนอนผีเสื้อ และหนอนลวด อีกทั้งสามารถช่วยควบคุมวัชพืชได้โดยกินเมล็ดพืชในดิน ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการใช้สารกำจัดวัชพืชเพื่อปกป้องพืชผล
  • ด้วงมูลสัตว์ (Scarabidae) ถูกนำมาใช้เพื่อลดจำนวนแมลงวันที่เป็นปัญหาของการเลี้ยงวัวในออสเตรเลีย เป็นต้น

วงจรชีวิตของด้วงยังเป็นประโยชน์ต่อการย่อยสลายซากพืชและอินทรีย์วัตถุ อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศตามธรรมชาติ

แต่น่าเสียดายที่เมื่อมีการระบาดของศัตรูพืชที่เกิดจากด้วง มักจะเลือกการจัดการปัญหาโดยการใช้สารเคมี ซึ่งนอกเหนือจากจะทำลายด้วงที่มีประโยชน์แล้ว ยังทำลายแมลงอื่นๆที่เป็นประโยชน์ และตัดวงจรการควบคุมกันเองของระบบนิเวศตามธรรมชาติไปอีกด้วย