“แมงกุดจี่” เป็นกลุ่มแมลง “ด้วงมูลสัตว์” (Dung beetle) ซึ่งคาดว่าในโลกนี้มีจำนวนชนิดราวๆ 7,000-8,000 ชนิด หลักฐานฟอสซิลพบว่า ด้วงมูลสัตว์มีกำเนิดมานานกว่า 180 ล้านปีในยุคจูราสสิก โดยแมลงกลุ่มนี้นอกจากกินมูลสัตว์เป็นอาหารแล้วยังกิน เศษซากพืช ซากสัตว์ หรือบางชนิดกินดอกเห็ดเป็นอาหารได้ด้วย

พฤติกรรมสำคัญของด้วงมูลสัตว์คือพฤติกรรมการวางไข่ ซึ่งกลุ่มแรก เป็นกลุ่ม “กลิ้งมูล” (วงศ์ย่อย Scarabaeinae) ให้ไกลออกจากกองมูลเดิม และกลุ่มที่สอง “ปั้นก้อนมูล” (วงศ์ย่อย Coprinae) แล้วฝังลงใต้กองมูลเดิม

พฤติกรรมดังกล่าวช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุในดิน ลดการแพร่ระบาดของแมลงวัน และปรสิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในกองมูล ด้วงมูลสัตว์จึงเป็นแมลงที่มีประโยชน์ และมีบทบาทสำคัญต่อการเกษตร และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ด้วงมูลสัตว์มักจะกลิ้งก้อนมูลสัตว์เป็นเส้นตรง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าแมลงเหล่านี้ทำเช่นนี้ได้เพราะดวงตาของมันสามารถรับรู้ตำแหน่งจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาวได้นั่นเอง

ดร.มารี ดัคเก (Marie Dacke) และคณะจากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) สวีเดน ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Current Biology ซึ่งเธอค้นพบว่า ไม่เพียงแต่ใช้แสงนำทางได้เท่านั้น แต่ในคืนไร้แสงจันทร์ “แมงกุดจี่” ยังสามารถรู้ทิศทางได้จากการจดจำตำแหน่งของดวงดาว เช่น แถบดาวในทางช้างเผือก เป็นต้น เป็นเครื่องมือในการนำทาง

ด้วงมูลสัตว์หรือแมงกุดจี่นี้ในประเทศไทยมีมากกว่า 237 ชนิด จาก 3 วงศ์ ได้แก่วงศ์ Scarabaedae วงศ์ Aphodiidae และวงศ์ Geotrupidae โดยพบทั้งในสภาพป่าธรรมชาติ และในพื้นที่เกษตร และเชื่อว่ามีจำนวนด้วงมูลสัตว์อีกมากที่ยังไม่ได้ค้นพบ

นิเวศเกษตรพาไปรู้จักชื่อวิทยาศาสตร์และหน้าตาของแมงกุดจี่เหล่านี้บางส่วน เพื่อจะได้คำนึงถึงคุณค่าของแมลงเหล่านี้ ที่มีความสำคัญทั้งต่อเรื่องนิเวศวิทยา และความมั่นคงทางอาหารของเรา