1. ปัญหาสุขภาพเนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นปัญหาระดับชาติ
ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากสารพิษกำจัดศัตรูพืชเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับสังคมไทยทั้งที่เป็นเกษตรกรและประชาชนทั่วไปในสังคมไทย ดังข้อมูลเมื่อปี 2541 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีเกษตรกรที่ผลการตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการเกิดพิษ2
พิษภัยจากสารเคมีการเกษตรนี้เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาที่เป็นผลระยะยาว เช่น ปัญหาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคต่อมไร้ท่อ และปัญหาอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรคสำคัญอันดับต้นๆของคนไทย
2. ผู้ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 1,500 คน หรือ 400,000 คน/ปี ?
ข้อมูลเมื่อปี 25523 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชจำนวน 1,520 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 35-44 ปี (22.43 %) และรองลงมาคือ 45-54 ปี (17.76 %) และต่ำสุดคือ 25-34 ปี (16.12 %)
จังหวัดที่มีอัตราการป่วยต่อประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กำแพงเพชร (25.34 ต่อแสนประชากร) อุทัยธานี (11.93 ต่อแสนประชากร) ตราด (9.07 ต่อแสนประชากร) สุโขทัย (8.76 ต่อแสนประชากร) แต่สถิติดังกล่าวอาจยังห่างไกลจากตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชจริงๆหลายเท่า ยกตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลผู้ป่วยจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายงานโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชถึง 8,546 รายในปี 2550 ซึ่งมากกว่ารายงานของสำนักระบาดวิทยาถึง 6 เท่า (1,452 ราย)4
จากการประเมินของแผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประมาณการว่า ตัวเลขผู้ป่วยจากสารเคมีอาจสูงถึง 200,000 – 400,000 รายต่อปี5
การสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลของผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงต่อภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการกำหนดนโยบาย การป้องกัน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

3. พื้นที่เสี่ยง
อย่างไรก็ตามฐานข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาจะมีประโยชน์อย่างมากในการจัดกลุ่มเป้าหมายพื้นที่จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยอาจใช้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกระทรวงเกษตร
4. ความเสี่ยงจากสารพิษของเกษตรกรไทย
จากการสำรวจเกษตรกรจาก 6 จังหวัด จำนวน 606 คน โดยโครงการ IPM DANIDAระหว่างเดือนสิงหาคม 2546 – เดือนกรกฏาคม 2547 พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
- เกษตรกรเกือบทั้งหมดเคยมีอาการเนื่องจากพิษของสารเคมีกําจัดศัตรูพืช โดย
- 56% ของเกษตรกรเคยมีอาการเนื่องจากพิษของสารเคมีกําจัดศัตรูพืช ระดับปานกลาง
- 1% ของเกษตรกรเคยมีอาการเนื่องจากพิษของสารเคมีกําจัดศัตรูพืช ระดับรุนแรง
- มีเกษตรกรเพียง 6% ที่ไม่เคยมีอาการเนื่องจากพิษของสารเคมีกําจัดพืช
- เกษตรกรเป็นจํานวนมากใช้สารเคมีที่มีพิษร้ายแรง
- 15% ของเกษตรกรใช้สารเคมีระดับความเป็นพิษ 1เอ (WHO)
- 39% ของเกษตรกรใช้สารเคมีระดับความเป็นพิษ 1บี (WHO)
- 58% ของเกษตรกรใช้สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphates)
- 22% ของเกษตรกรใช้สารเคมีกลุ่มคาร์บาเมท (Carbamates)
- 31% ของเกษตรกรใช้สารเคมีกลุ่มพาราควอท (Paraquat)
- 14% ของเกษตรกรมีการใช้ สารเคมีที่ถูกห้ามนํ าเข้า ผลิต ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองในประเทศไทย
5. ตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย
จากสถิติปี 2552 ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเภทต่างๆเข้ามาปีละ 137,594,393.26 กิโลกรัม (ปริมาณสารออกฤทธิ์ 68,768,742.98 กิโลกรัม) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 16,815,769,077 ล้านบาท6 สารเคมีดังกล่าว 66% นำเข้าจากประเทศจีน 8% จากอินเดีย ที่เหลือ 26% จากประเทศอื่นๆ โดยเบื้องหลังของการผลิตและการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวคือผู้ผลิตสารเคมีสำคัญ 6 บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก คือ ไบเออร์ ซินเจนต้า BASF ดาว มอนซานโต้ ดูปองท์ ที่ผูกขาดสารเคมีการเกษตรของโลกประมาณ 70% นั่นเอง
สารเคมีการเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย ถูกนำเข้าโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ 6 บริษัท และบริษัทอื่นๆอีก 230 บริษัท มีบริษัทผลิตสูตรสำเร็จ 90 บริษัท ผู้ค้าส่ง 543 ราย และผู้ค้าปลีก 15,822 ราย
บริษัทท้องถิ่นของไทยจะนำสารออกฤทธิ์ดังกล่าวมาผสมและบรรจุขายไปยังร้านค้าปลีกและเกษตรกร ซึ่งราคาที่เกษตรกรซื้อจะมีมูลค่าสูงกว่าราคาวัตถุดิบที่นำเข้ามาหลายเท่าตัว
ประเทศ | สารออกฤทธิ์ | ชื่อการค้า |
---|---|---|
ลาว | 46 | 100 |
พม่า | * | 818 |
อินเดีย | 194 | * |
มาเลเซีย | 240 | 917 |
อินโดนีเซีย | * | 1,158 |
ศรีลังกา | 269 | 1,383 |
เวียดนาม | 590 | 1,743 |
ไทย | 439 | 27,126 |
จีน | 600 | 20,000 |
ข้อมูลของไทยจาก กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร(สืบค้นเมื่อ 10 พ.ย. 2553)
6. ความอ่อนแอของระบบการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
การขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยมีปัญหาอย่าง ยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนการค้าสารเคมีการเกษตรเป็น จำนวนมาก และอาจจะมากที่สุดในโลก เพราะมีการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนการค้าสารเคมีเกษตรและสารออกฤทธิ์ถึง 27,000 รายการ ในขณะที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีชื่อการค้าเพียง 917 1,158 และ 1,743 รายการ ตามลำดับ การมีชื่อการค้าจำนวนมากเป็นเครื่องมือการขายสำหรับบริษัทสารเคมี ให้สามารถหมุนเวียนสับเปลี่ยนชื่อการค้าต่างๆมาขาย สร้างความสับสนให้กับเกษตรกร แต่สร้างยอดขายให้บริษัท
7. กลไกส่งเสริมการขาย
ดร.พัฒนพงศ์ จาติเกตุ พบว่าบริษัทที่ทำการตลาดส่วนใหญ่ มักจะมาจากบริษัทข้ามชาติ และบริษัทไทยขนาดกลาง โดยอาศัยช่องโหว่ที่ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ชัดเจน โดยใช้กลยุทธ์การตลาด 16 วิธี เพื่อกระตุ้นยอดขายได้แก่
- การจับรางวัล ชิงโชค
- การสัมมนาและจัดเลี้ยง
- การจัดเลี้ยงโต๊ะจีน
- การขายพ่วงกับเมล็ดพันธุ์
- การจัดแปลงสาธิตในพื้นที่เพาะปลูก
- การจัดแนะนำสินค้าในชุมชน
- การให้ของแจกของแถม
- การให้โบนัสหรือรางวัล
- การลดราคา
- การให้ค่านายหน้าแก่ร้านค้าหรือสหกรณ์
- การให้เครดิตหรือการจ่ายเงินเชื่อ
- การจัดอบรมเกษตรกร
- การทำยอดสะสมการใช้สารเคมีเพื่อแลกของรางวัลต่างๆ
- มีสิ่งตอบแทนเมื่อลูกค้านำเงินมาชำระ
- การโฆษณาผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งวิทยุ นิตยสารทางการเกษตร แผ่นพับ ใบปลิว รถแห่ ฯลฯ
- การจัดแสดงสินค้าหน้าร้าน หรือการโฆษณา ณ จุดขาย
ในขณะที่สินค้าที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ และสุรา ล้วนแล้วแต่มีมาตรการเกี่ยวกับฉลาก และการควบคุมการโฆษณาอย่างเข้มงวด แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการใดๆสำหรับดำเนินการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
8. กลไกในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
การควบคุมต้องดำเนินตลอดกระบวนการตั้งแต่การผลิต นำเข้า ขึ้นทะเบียน การโฆษณาและส่งเสริมการขาย กลไกควบคุมการจัดจำหน่าย การใช้ การตรวจสอบสารตกค้างในผลผลิต ข้อมูลการตรวจสอบของจากนำเข้า ข้อมูลความเสี่ยงของผู้ผลิตและผู้บริโภค การรวบรวมวิเคราะห์ผู้ป่วย และระบบข้อมูลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
อย่างไรก็ตามในทัศนะของผู้เขียน ปัญหาสำคัญของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสารเคมีในปัจจุบันมีอยู่ 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ดังที่ได้วิเคราะห์ปัญหาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว คือ การขึ้นทะเบียนการโฆษณาและส่งเสริมการขายและการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด
9. โอกาสทางนโยบายในการควบคุมการขึ้นทะเบียนสารเคมี ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2551
ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25518 ดังนี้
- กำหนดการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายให้มี 3 ขั้นตอน คือ
- ขั้นตอนที่ 1 การทดลองเบื้องต้น ข้อมูลประสิทธิภาพ พิษเฉียบพลันและพิษตกค้าง โดยให้ผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างวัตถุอันตรายเพื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐาน GLP (Good Laboratory Practice) ตามมาตรฐาน OECD9
- ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้ชั่วคราวในแปลงสาธิต เพื่อทราบข้อมูลพิษปานกลาง พิษเรื้อรัง และพิษตกค้าง โดยให้ผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างวัตถุอันตรายเพื่อทดสอบ
- ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผลการทดลองและข้อมูลต่างๆเพื่อทราบความปลอดภัยต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพิษเรื้อรังระยะยาว (2 ปี) ต่อสัตว์ทดลอง
- กำหนดอายุทะเบียนไม่เกิน 6 ปี หลังจากวันที่ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน จากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุ
- กำหนดให้วัตถุอันตรายแต่ละชนิดขึ้นทะเบียนได้สูตร (formulation) ละไม่เกิน 1 ความเข้มข้น เว้นแต่มีการทดลองทางวิชาการที่แสดงความแตกต่างชัดเจน10
ควรใช้โอกาสทางนโยบายนี้ในการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
10. หยุดการขึ้นทะเบียนสารพิษอันตราย
ดำเนินการให้มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มเติม 11 ชนิด จากรายชื่อสารเคมีที่เดิมอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร12
ชื่อสามัญ | ระดับพิษ | เหตุผลประกอบ |
---|---|---|
ออลดิคาร์บ | Ia | • บริษัทไบเออร์จะเลิกผลิตโดยสิ้นเชิงในค.ศ.2015 (เหตุผลประกอบคือความเสี่ยงต่อสุขภาพเด็ก) และจะเลิกการจำหน่ายภายในปี 201713 • สหรัฐเลิกใช้สำหรับส้มและมันฝรั่งหลังค.ศ. 2012 และการใช้จริงคาดว่าจะหมดภายในค.ศ.2018 • อินเดียยกเลิกการผลิตและการใช้แล้ว |
บลาสติซิดิน-เอส | Ib | |
คาร์โบฟูแรน | Ib | • ค.ศ. 2007 สหภาพยุโรปห้ามให้มีการใช้สารชนิดนี้15 • สำหรับสหรัฐอเมริกา EPA ได้ระงับการใช้สารนี้แบบชนิดเม็ด (granular) ตั้งแต่ค.ศ.1994 และได้แบนสารชนิดนี้จากการใช้ในประเทศ ในค.ศ.200916แต่สามารถมีค่าตกค้างในสินค้าเกษตรนำเข้าเช่น ข้าวและอ้อย • อยู่ใน PIC list (การแจ้งข้อมูลล่วงหน้า) ของสนธิสัญญารอตเทอร์ดาม (Rotterdam Convention) |
ไดโครโตฟอส | Ib | อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย ห้ามใช้ |
อีพีเอ็น | Ia | สหรัฐ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา อินเดีย และพม่าห้ามใช้/ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว |
อีโทรโพรฟอส | Ia | |
ฟอร์เมธิเนท | Ia | |
เมธิดาไธออน | Ib | สหภาพยุโรปห้ามใช้ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2011 เป็นต้นไป |
มีโธมิล | Ib | • สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ ห้ามใช้/ไม่ขึ้นทะเบียน• อินเดียห้ามใช้ส่วนผสม (formulation) Metyomyl 24% L และ Methomyl 12.5% L• สิงคโปร์ไม่อนุญาตให้ใช้ |
ออกซามิล | Ib | |
เอ็นโดซัลแฟน (cs) | II | นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ห้ามใช้ |
11. บังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใสและเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติ
ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้มีการส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 10 คน โดยประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์หรือกฎหมาย และอย่างน้อย 5 คนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์และมี ประสบการณ์การดําเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม17
อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ประการใดทั้งๆที่กฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับใช้มาครบ 2 ปีแล้วก็ตาม หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นจากอิทธิพลของบริษัทธุรกิจสารเคมีการเกษตรที่เห็นว่าการเข้ามามีบทบาทขององค์กรภาคสังคมจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของตน

12. จริยเกษตร
การผลิตและธุรกิจการเกษตรของประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดำเนินไปในทิศทางที่ทำลายและเบียดเบียนสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งของตนเองและคนรอบข้าง การมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทำลายคุณค่าทางจริยธรรมและความรับผิดชอบระหว่างกัน เราเห็นเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผักไปขายผ่านคนกลางโดยไม่คำนึงถึงพิษภัยที่ตกกับผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็ต้องการผักสวยงามราคาถูกๆโดยไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของผู้ปลูก ในขณะที่บรรดาธุรกิจเคมีเกษตรจำนวนมากกลับขาดจริยธรรมการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทั้งๆที่การค้าขายสารเคมีเกษตรนั้นอาจจะอยู่ในหรืออยู่บนเส้นแบ่ง “มิจฉาวณิชชา” (การค้าขายไม่ชอบธรรม) ข้อ “วิสวณิชชา” (ค้ายาพิษ) ที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้ มีความจำเป็นต้องสร้างหลักจริยเกษตรสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ในระบบการผลิตอาหารและการเกษตรที่นอกเหนือจากการดำเนินการตามกฎหมายที่ได้กล่าวแล้ว การสร้างหลักจริยเกษตรภายใต้โลกยุคโลกาภิวัตน์จำเป็นต้องทำงานกับสื่อสารมวลชนและแปรพลังของผู้บริโภคให้มาสนับสนุนผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคม การคว่ำบาตรผู้ประกอบการที่ขาดจริยธรรม ตลอดจนส่งเสริมทิศทางเกษตรกรรมที่เกื้อกูลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งและมีสัดส่วนมากขึ้นๆ เป็นต้น
อ้างอิง
- เอนไซม์โคลินเอสเตอเรส ซึ่งเอนไซม์นี้เป็นสารที่ทำหน้าที่รับส่งคำสั่งในการทำงานของระบบประสาทของมนุษย์ เมื่อได้รับสารเคมีเกษตรจะทำให้เอนไซม์ทำงานได้ลดลงจากปกติ และส่งผลให้เกิดอาการผิดปรกติต่างๆ ↩︎
- แผนงานพืชอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ 2551 ↩︎
- รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ↩︎
- สถานการณ์ความเสี่ยงในการทำงานต่อสุขภาพแรงงานนอกระบบจากสารกำจัดศัตรูพืช ↩︎
- วลัยพร มุขสุวรรณ, 2548 ↩︎
- ข้อมูลจาก สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ↩︎
- ลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเพื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 และบังคับใช้วันที่ 23 สิงหาคม 2551 โดยเหตุผลในการประกาศใช้คือ พ.ร.บ. 2535 มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับปรุงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์ประกอบ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับการกำหนดและต่ออายุใบรับแจ้งดำเนินการและใบสำคัญการขึ้นทะเบียน การอนุญาตให้มีการนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 รวมถึงการยกเลิกอำนาจจับกุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ภาคผนวก ก) ↩︎
- ตามข้อกำหนดที่ 18 ของประกาศกระทรวงฯ ↩︎
- มีการเคลื่อนไหวคัดค้านของบริษัทต่างๆโดยอ้างว่าไม่มีห้องปฏิบัติการในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GLP ทำให้เสียค่าใช้จ่ายตัวอย่างละ 1.5-2 ล้านบาทต่อครั้ง และทำให้ผู้ประกอบการคนไทยประเภท SMEs จำเป็นต้องขายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ ↩︎
- ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ↩︎
- เป็นที่น่าสังเกตว่า สารเคมีบางชนิดบนรายการเฝ้าระวัง เช่น ออลดิคาร์บ มีพิษมากกว่าสารเคมีบางชนิดที่ถูกสั่งห้ามไปแล้วเสียอีก เช่น มีธามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังมีสารอันตรายบางชนิดที่ไม่อยู่ในรายการเฝ้าระวัง เช่น พาราควอท เป็นต้น ↩︎
- จรีรัตน์ มีพืชน์, “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้ (1)” ไทยโพสต์ เอ็กซ์-ไซท์ 20-09-50 http://www.thaienv.com/th/index.php?option=com_content&task=view&id=204&Itemid=27 ↩︎
- “Insecticide to be banned – three decades after tailed melons sickened 2,000 people”. Environmental Health News. 18-08-10 http://www.environmentalhealthnews.org/ehs/news/aldicarb-phaseout ↩︎
- http://ec.europa.eu/food/plant/protection/evaluation/existactive/list_carbofuran.pdf ↩︎
- Annex V http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2010:065:0016:0022:EN:PDF และ http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2010:065:0016:0022:EN:PDF ↩︎
- http://www.epa.gov/oppsrrd1/REDs/factsheets/carbofuran_ired_fs.htm ↩︎
- ตามมาตรา 6 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 ↩︎