คำประกาศ เวทีนโยบายและวิชาการสาธารณะ
กู้วิกฤติโลกเดือดและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยมือประชาชน
(COP28 ภาคประชาชน)
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566
ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
พวกเราคือเสียงจากชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อย ผู้หญิง ผู้สูงวัย คนรุ่นใหม่ NGOs นักวิชาการ และอีกมากมายจากประเทศไทยได้มารวมตัวกันในที่นี้ เพื่อจะประกาศเจตนารมณ์ในเวที COP28 กู้วิกฤติโลกเดือดที่ภาคประชาชนจัดขึ้น
พวกเราสรุปบทเรียนว่า ปัญหาภาวะโลกเดือด หาใช่ปัญหาใหม่ แต่คือ ผลพวงของความล้มเหลวการพัฒนาของโลกและสังคมไทยในระบบทุนนิยมเสรี ที่ทำลายนิเวศ เปลี่ยนธรรมชาติเป็นสินค้าเพื่อความมั่งคั่ง แย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนและสังคม เกิดความเสื่อมโทรมทางนิเวศ การแตกสลายของสังคม ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทั้งทางนิเวศและสังคม
และแล้ววันนี้โลกได้ประจักษ์ชัดว่า การพัฒนาทุนนิยมเสรีกำลังพาประชาชนทั้งโลกไปสู่หายนะ เพียงเวลา 200 กว่าปีนับจากปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิล โลกต้องเผชิญภูมิอากาศโลกที่ร้อนที่สุดในช่วง 125,000 ปี จากปริมาณคาร์บอนสูงที่สุดในรอบ 2,000,000 ปี ซึ่งส่วนมากปล่อยจากประเทศกลุ่มทุนศูนย์กลางทุนนิยมเพื่อความมั่งคั่ง แต่ประชาชนค่อนโลก โดยเฉพาะคนยากจนกว่า 3,000 ล้านคนที่มีวิถี “คาร์บอนต่ำ” กลับได้รับผลกระทบรุนแรง สะท้อนความไม่เป็นธรรมสภาพภูมิอากาศที่มีตลอดมา
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้เตือนมาตั้งแต่ปี 1988 แล้วว่า การเผาผลาญพลังงานฟอสซิลเพื่อป้อนอุตสาหกรรม คือสาเหตุใหญ่ของภาวะโลกเดือด แม้ประชาคมโลกจะร่วมกำหนดอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 1992 จัดประชุมประเทศภาคีอนุสัญญา (COP) เรื่อยมา แต่จนในวันนี้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศพุ่งสูงที่สุดตลอดยุคสมัยของมนุษย์ อุณหภูมิโลกได้สูงใกล้จะถึง 1.5 องศาฯ แล้ว แต่อุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตรเคมี และอื่น ๆ ยังคงเติบโตปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ภายใต้วาทกรรมใหม่ เช่น NET ZERO, การชดเชยคาร์บอน คาร์บอนเครดิต ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ช่วยลดคาร์บอน แต่เป็นผลประโยชน์ธุรกิจใหม่ และการฟอกเขียวครั้งใหญ่
IPCC เสนอว่า หากโลกต้องการรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลงจากปี 2019 ให้ได้อย่างน้อย 45% ภายในปี 2030 และ 60% ภายในปี 2035 มากไปกว่านั้นตามเป้าหมายความตกลงคุณหมิง-มอนทรีออลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกำหนดว่า ต้องเร่งเปลี่ยนสังคมโลกให้สมดุลกับธรรมชาติภายในปี 2050

แต่โอกาสที่โลกจะเปลี่ยนยิ่งริบหรี่ทุกวัน เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกยังใช้เงินถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อุดหนุนอุตสาหกรรมฟอสซิล แม้พลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นก็ตาม และสามารถแทนที่พลังงานฟอสซิลได้ แต่อุตสาหกรรมพลังงานผูกขาดของโลกก็ยังไม่คงแสวงประโยชน์จากฟอสซิล
น่าเสียดายที่เวที COP ทุกครั้งที่ผ่านมารวมถึง COP 28 ที่สหประชาชาติจะจัดในสิ้นปีนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับปล่อยให้กลุ่มธุรกิจพลังงานมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย
ดังนั้น โลกต้องเร่งเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมฟอสซิลไปสู่ยุคหลังทุนนิยมที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ สร้างประชาธิปไตยในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
สหประชาชาติจำเป็นต้องยึดหลักความเป็นธรรมในสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืนของนิเวศและสังคมเป็นแกนกลาง สร้างเวทีที่มีธรรมาภาล ให้ประชาชนทั่วโลกมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง ข้อตกลงของโลก และได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังในการกู้วิกฤติโลกเดือดเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมหลังทุนนิยมที่เกื้อกูลกับธรรมชาติให้ทันก่อนหายนะ
คำประกาศต่อรัฐไทย
แม้ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงร้อยละ 1 ของโลก แต่ก็สูงเป็นอันดับ 20 ของโลก ประเทศไทยสามารถช่วยโลกลดวิกฤติโลกเดือดได้มากกว่านี้ ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยเสี่ยงต่อผลกระทบภาวะโลกเดือดเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่นโยบายของรัฐกลับไม่ได้สมดุลกับปัญหา รัฐเน้นหนักนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนเป็นหลัก ละเลยนโยบายการสร้างภูมิคุ้มกัน ปรับตัวของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในด้านลดก๊าซเรือนกระจก รัฐมีนโยบายสวนทางกับสถานการณ์โลกเดือด เช่น กำหนดเป้าหมายลดคาร์บอนที่ขาดความจริงจัง ทั้งการบรรลุคาร์บอนเป็นกลางปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิปี 2065 ซึ่งล่าช้าไปมากเมื่อเทียบกับศักยภาพที่ประเทศไทยทำได้ หรือในระยะสั้นที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ในปี 2030 ก็เป็นลดจากการคาดการณ์อนาคตที่ประเมินการปล่อยก๊าซสูงเกินจริง จึงไม่ได้ลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง Carbon Tracker ประเมินว่า หากทั่วโลกยึดตามเป้าหมายที่ประเทศไทยเสนอ โลกคงอุณหภูมิสูงถึง 4 องศาฯ
แทนที่จะรัฐบาลจะเร่งเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิล ซึ่งปล่อยคาร์บอนถึงกว่า 60 %ของทุกภาคส่วน มาสู่พลังงานหมุนเวียนโดยการจัดการของประชาชน แต่แผนพลังงานแห่งชาติ แผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศยังคงยึดพลังงานฟอสซิล ทั้งที่จริงรัฐสามารถเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 อันจะทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในเวลาเดียวกัน
เมื่อภาคพลังงานและอุตสาหกรรมไม่ลดปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง รัฐจึงหาทางออกด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ 11 ล้านไร่ ป่าเศรษฐกิจ 16 ล้านไร่ เพิ่มการดูดซับคาร์บอนจาก 90 ล้านตันไปเป็น 120 ล้านตันในปี 2037 ออกกฎระเบียบเอื้ออำนวยให้ภาคธุรกิจมาลงทุน อันจะเป็นการเปลี่ยนป่าเขตร้อนชื้นที่อุดมด้วยความหลากหลายชีวภาพให้เป็นป่าคาร์บอนเชิงเดี่ยว เปลี่ยนพื้นที่เกษตรให้กลายเป็นฟาร์มคาร์บอน เพื่อขายคาร์บอนเครดิตให้กลุ่มทุนไปชดเชยการปล่อยคาร์บอน ใช้อ้างความเป็น Net Zero ในการค้าระหว่างประเทศ
คาร์บอนเครดิตกลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมการลงทุน และเป็นการฟอกเขียวครั้งใหญ่ที่ทำลายหลักการผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ทำลายนิเวศ ละเมิดสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากร แม้จะมีตัวอย่างทั่วโลกที่จะสะท้อนความล้มเหลวของคาร์บอนเครดิต แต่รัฐไทยก็ไม่นำพาต่อคำเตือนเหล่านี้ ยังเดินหน้าเอาพื้นที่ป่าและประชาชนมาแลกกับคาร์บอนเครดิตต่อไป
ประชาชนได้ทักท้วงนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างปัญหาตลอดมา แต่รัฐไม่รับฟัง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) ที่เสนอต่อสหประชาชาติ นโยบายพลังงาน ป่าไม้ เกษตร อุตสาหกรรม และอื่น ๆ อีกทั้งเวทีที่รัฐจัดขึ้นส่วนมากเป็นเวทีประชาสัมพันธ์นโยบายรัฐและผลงานภาคธุรกิจ มากกว่าจะเปิดให้ประชาชนมาถกแถลงอย่างจริงจัง ข้อเสนอของรัฐไทยที่เสนอต่อเวที COP ทุกครั้งที่ผ่านมา รวมถึงเวที COP28 ในครั้งนี้ และนโยบายชาติที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านต่าง ๆ จึงไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
ตัวแทน สสส.
ข้อเสนอถึงเวทีประชุมสหประชาชาติ COP 28
- ยืนยันหลักความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศให้ชัดเจนในหลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง ทั้งความเป็นธรรมระหว่างประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา ในการใช้ทรัพยากรระหว่างกลุ่มธุรกิจกับสาธารณะ ความเป็นธรรมของประชากร ความเป็นธรรมระหว่างเพศ ความเป็นธรรมระหว่างรุ่น ความเป็นธรรมต่อชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ผู้หญิง คนยากจน คนเปราะบาง และความเป็นธรรมต่อนิเวศ และคัดง้างกับการแปลงธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นสินค้า
- เอาจริงกับคำมั่นสัญญาที่ประเทศพัฒนาแล้วจะรับผิดชอบต่อภาวะโลกเดือดที่ตนเองมีส่วนก่อเป็นหลัก ด้วยการสนับสนุนงบประมาณแบบให้เปล่าโดยไม่หาประโยชน์ทางอ้อมจากคาร์บอนเครดิตหรือผลประโยชน์อื่นใดแก่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่เปราะบาง ตามจำนวนข้อตกลง 1 แสนล้านเหรียญฯ และจัดตั้งกองทุนคุ้มครองช่วยเหลือความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) ที่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาและเสี่ยงต่อภัยพิบัติเข้าถึงได้โดยตรง ให้แล้วเสร็จภายในการประชุม COP 28
- กำหนดนโยบายการเปลี่ยนผ่านการใช้ฟอสซิลสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างชัดเจน ให้สอดคล้องกับข้อแนะนำของ IPCC ที่ต้องลดรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาฯ ภายในสิ้นทศวรรษ 2100 และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมทางสังคมให้เป็นพลังงานหลักของโลก
- ทบทวนมาตรา 6 ข้อตกลงปารีส เรื่องตลาดคาร์บอน การชดเชยคาร์บอน ที่ประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มทุนข้ามชาตินำไปใช้ฟอกเขียว โดยให้ยึดหลักคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติด้าน Net Zero ภาคเอกชน ที่ให้ภาคอุตสาหกรรมยังคงประโยชนจากพลังงานฟอสซิลและทำลายนิเวศ ต้องลดก๊าซเรือนกระจก และการทำลายนิเวศจากกิจกรรมของตนเสียก่อน ไม่สามารถเอานโยบายชดเชยคาร์บอน ตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิต มาเบี่ยงเบนความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง
- การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดพลาด ทบทวนเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบทางนิเวศและสังคม เช่น การดักจับกักเก็บคาร์บอน วิศวภูมิศาสตร์ รวมไปถึงโครงการที่อ้างลดโลกร้อน เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่สร้างผลประทบนิเวศและสังคม
- สร้างธรรมภิบาลในการประชุมภาคี COP สร้างธรรมาภิบาล ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมอย่างมีนัยสำคัญ

Thai Climate Justice for All
ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย และพรรคฝ่ายค้าน
นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวม
- สร้างความสมุดลในนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐ โดยเพิ่มสัดส่วนการสนับสนุนนโยบายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชน ชุมชน เกษตรกร คนจน ให้สมดุลกับนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก
- ปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางในปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โดยปรับเป็นคาร์บอนเป็นกลางในปี 2030 และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2040 โดยเริ่มลดในปี 2024 ทันที ไม่ต้องรอถึงปี 2030
- ทิศทางหลักของการลดก๊าซเรือนกระจก ควรมุ่งลดภาคที่ปล่อยคาร์บอนเป็นหลัก ได้แก่ ภาคพลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ โดยตรง สู่ Real ZERO (ไม่ใช่ NET ZERO) โดยไม่ใช้ระบบชดเชย (offset) คาร์บอนเครดิตมาเบี่ยงเบนความรับผิดชอบดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการหล่อเลี้ยงให้กิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเติบโตต่อไปจนเกินกว่าที่โลกจะรับได้
- นำข้อเสนอนโยบายโดยคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงแห่งสหประชาชาติ ด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน 2020 มาเป็นฐานนโยบาย ได้แก่ ห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐและเอกชนอ้างบรรลุ Net Zero ในขณะที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานฟอสซิล ห้ามไม่ให้เอกชนซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการลดปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมการผลิตของตน เป็นต้น
- พัฒนาร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างระบบความรับผิดชอบแก่ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ปรับลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเอง ไม่ใช้ระบบตลาดคาร์บอนที่นำมาสู่การฟอกเขียวได้ กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมศักยภาพการจัดการของชุมชน ประชาชนลดก๊าซเรือนกระจก และสร้างภูมิคุ้มกันรับมือภาวะโลกเดือด
- บรรจุการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไว้ในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกประเภท รวมไปถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)
นโยบายทบทวนคาร์บอนเครดิต
- ยุตินโยบายและการดำเนินงาน มาตรการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร ด้วยปัญหาความไม่ชัดเจนในระบบมาตรฐาน การไม่มีระบบป้องกันการฟอกเขียว ผลกระทบทางนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การละเมิดสิทธิชุมชนต่อทรัพยากร ความมั่นคงอาหาร และอื่น ๆ และความไม่เป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ ดังที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงระหว่างภาคเอกชนกับชุมชน กรณีโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด
- ทบทวนโครงสร้างและแนวทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (BCG โมเดล) ที่เอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนและฟอกเขียวภาคทุนที่จะเอาป่าของประเทศมาอ้างคาร์บอนเครดิต
- กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะภาคส่วนสำคัญคือ พลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาฯ
- ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการคลัง โดยเฉพาะหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) สำหรับผู้ปล่อยแกสเรือนกระจกและผู้ก่อมลพิษอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว ไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ในขณะเดียวกันต้องนำภาษีที่เก็บได้นำไปใช้สำหรับการปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นโยบายจัดการป่าและเกษตร
- ทบทวนกฎหมาย กลไกนโยบายการจัดการป่าทั้งหมดให้กระจายอำนาจ และรับรองสิทธิการจัดการป่าของชุมชนและพื้นที่สีเขียวของประชาชน โดยมีระบบสนับสนุนทั้งงบประมาณ ข้อมูล ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนให้ชุมชน และประชาชนจัดการป่า พื้นที่สีเขียวได้อย่างอิสระ เข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับระบบนิเวศและวัฒนธรรม สร้างบริการทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพแก่ชุมชนและสังคมได้มั่นคง อันจะทำให้ช่วยดูดซับคาร์บอน และสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนต่อภาวะโลกเดือด และไม่สร้างเงื่อนไขแลกกับการชดเชยคาร์บอน คาร์บอนเครดิต
- ทบทวนแนวทางบรรลุเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว โดยเน้นไปที่การส่งเสริมบทบาทของภาคชุมชน ประชาชนในการจัดการป่า สร้างพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ชุมชน พื้นที่สาธารณะ ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนต้องเป็นไปอย่างไม่มีเงื่อนไขการฟอกเขียว และละเมิดสิทธิชุมชน
- ปรับเปลี่ยนแบบแผนเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวปล่อยแกสเรือนกระจก ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นเกษตรกรรมเชิงนิเวศในรูปแบบต่างๆ ไม่ส่งเสริมรูปแบบเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง (AWD) เหมือนที่เป็นอยู่ โดยใช้ตัวชี้วัดความสำเร็จที่คำนึงบริการทางนิเวศอื่น ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดมลพิษ เป็นต้น
- รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมเกษตรนิเวศ ซึ่งเป็นระบบเกษตรที่คำนึงถึงระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ และอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น และระดับประเทศ การปรับเปลี่ยนการผลิตสู่เกษตรนิเวศ การพัฒนาพันธุกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเข้าถึงแหล่งน้ำของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน การจัดการลุ่มน้ำที่มีส่วนร่วมและเป็นธรรม
นโยบายด้านพลังงาน
- เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2040 เริ่มจากเร่งปลดระวางถ่านหินให้หมดภายในปี 2027
- ปฏิรูปโครงสร้างระบบพลังงานไฟฟ้า หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างเสรีและเป็นธรรม เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่เป็นธรรม เจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีอยู่
- ทบทวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมดที่ทำลายนิเวศ สร้างก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภาค การพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ โครงการแลนบริดจ์ โครงการสร้างเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่ทำลายระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่แย่งชิงทรัพยากรชุมชน และไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนให้เป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำที่ไม่กระทบต่อขีดจำกัดนิเวศในแต่ละพื้นที่ และไม่ละเมิดสิทธิชุมชนในการดำรงชีพ
นโยบายการคุ้มครองสิทธิชุมชน ผู้หญิง และกลุ่มเปราะบาง
- ให้รัฐดำเนินนโยบายคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิชุมชน ตามข้อตกลงปารีสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2015 และข้อตกลงคุณหมิง มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 2022 โดยครอบคลุมถึงเยาวชน สตรี คนพิการ และผู้รู้ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งทางวัฒนธรรม การดำรงชีพ การจัดการทรัพยากร การผลิตตามวิถีประเพณี โดยชนพื้นเมือง ชุมชนต้องได้รับรู้ข้อมูล บอกแจ้งล่วงหน้า และเป็นอิสระเกี่ยวกับนโยบาย โครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ และให้ชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกทางการเงินที่เกี่ยวข้องได้ เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund-GCF) เป็นต้น
- มีนโยบายการบูรณาการมิติเความเสมอภาคระหว่างเพศ ยกระดับผู้หญิงให้อยู่ในสถานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคม ส่งเสริมภาวะผู้นำให้ผู้หญิงได้ส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย วางแผน ปฏิบัติการ สร้างทางออกที่สอคล้องกับปัญหาความต้องการของประชาชนหญิงและชาย ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ
นโยบายการส่งเสริมการปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันประชาชน
- พัฒนาระบบการเงินเรื่องโลกร้อนที่มุ่งส่งเสริมชุมชนและประชาชนในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ปรับตัว และมีบทบาทลดก๊าซเรือนกระจก เช่น กองทุนปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุน GCF กองทุนลดความสูญเสียและเสียหาย เพื่อให้ชุมชนได้ใช้เทคโนโลยี ทุน ความรู้เพื่อให้เกิดการปรับตัวในระยะยาว ลดความสำคัญการใช้กลไกลตลาด การซื้อขายคาร์บอน
- มีนโยบาย มาตรการคุ้มครอง ฟื้นฟู ชดเชยความสูญเสีย เสียหายของประชาชนต่อผลกระทบภาวะโลกเดือด มีกองทุนเพื่อการปรับตัวของเกษตรกรและชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรรมสู่เกษตรนิเวศ ได้แก่ กองทุนเพื่อรับมือกับความเสียหาย กองทุนสนับสนุนการปรับตัวไปสู่ระบบเกษตรนิเวศ
- รัฐต้องพัฒนาให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ เพื่อเกษตรกรโดยได้วางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เช่น น้ำท่วม แล้ง ฝน เป็นต้น