เมื่อเร็วๆนี้ (3 ก.พ. 68) มีข่าวจากกรมประมงแพร่สะพัดไปในหลายสื่อเกี่ยวกับความสำเร็จในการทำหมันปลาหมอคางดำ โดยอธิบดีกรมประมงระบุว่า “โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ จะลงพื้นที่ดูการปล่อยปลาหมอคางดำ ชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำต่อไป”
ที่ผ่านมาแนวทางในการควบคุมชนิดพันธุ์รุกรานด้วยพันธุกรรม (Genetic Biocontrol) เช่น
- การปล่อยแมลงเป็นหมัน (Sterile Insect Technique – SIT) ใช้ การฉายรังสีหรือดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อทำให้แมลงตัวผู้เป็นหมัน และปล่อยลงสู่ธรรมชาติเพื่อลดการแพร่พันธุ์ ที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จ มีค่าใช้จ่ายสูง
- ตัวผู้ YY (Trojan Y Chromosome – TYC) ใช้ การปรับเปลี่ยนสัดส่วนเพศ โดยปล่อยปลาเพศผู้ที่มีโครโมโซม YY ซึ่งจะให้กำเนิดลูกเพศผู้ทั้งหมด ทำให้ประชากรลดลง มีการทดสอบภาคสนามแล้วในปลา Brook Trout ในสหรัฐฯ และมีศักยภาพในการใช้งานจริง แต่ข้อจำกัดคือต้องมีการเฝ้าติดตามและปล่อยตัวผู้ YY อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
- เทคนิคตัวเมียโทรจัน (Trojan Female Technique – TFT) ใช้การกลายพันธุ์ของ DNA ไมโตคอนเดรีย ที่ทำให้ปลาเพศผู้มีภาวะมีบุตรยาก แต่ยังคงสามารถสืบพันธุ์กับตัวเมียได้ ข้อดีคือทำให้ประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องดัดแปลง DNA ในระดับโครโมโซม แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพสูง การทดลองในแมลงวันผลไม้ให้ผลเพียง ลดจำนวนประชากรได้ 8% ใน 10 รุ่น
- เทคโนโลยี CRISPR เพื่อดัดแปลงพันธุกรรม และทำให้ยีนที่ต้องการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เช่น ยีนที่ทำให้ปลาหรือสัตว์รุกรานเป็นหมันหรือเปลี่ยนสัดส่วนเพศ วิธีนี้มองว่ามีศักยภาพสูง และสามารถแพร่กระจายในประชากรเป้าหมายได้โดยอัตโนมัติ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน เพราะยีนที่ถูกดัดแปลงจะกระจายไปยังประชากรหรือสายพันธุ์อื่น ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด และในหลายประเทศปฏิเสธที่จะใช้วิธีการนี้
เท่าที่สำรวจ กรณีการดำเนินการที่กรมประมงกำลังทำอยู่ยังไม่มีรายงานว่าประสบผลสำเร็จในที่ใดมาก่อน
ทั้งนี้ การปล่อยปลาเอเลียนสปีชีส์ที่มีการเหนี่ยวนำโครโมโซม เพื่อควบคุมเอเลียนสปีชีส์รุกราน โดยทำให้ปลาตัวผู้มี 4n โครโมโซม (Tetraploid) แล้วปล่อยไปผสมกับปลาธรรมชาติ (2n) ลูกที่เกิดมาจะเป็น 3n (Triploid) ซึ่งเป็นหมัน และไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ ตามหลักการนั้น มีประเด็นที่ควรระวังไว้ดังนี้
- อาจเกิดลูกที่ไม่เป็นหมัน ในบางสายพันธุ์ ลูกปลา 3n (Triploid) อาจไม่เป็นหมันทั้งหมด อาจมีบางตัวที่ยังสืบพันธุ์ได้
- ปลาที่มี 4n อาจไม่แข็งแรงเท่าปลาธรรมชาติ ปลาที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงโครโมโซมอาจมี อัตราการรอดต่ำกว่าปลาธรรมชาติ เช่นอาจเกิด ภาวะผิดปกติทางสรีรวิทยา เช่น เจริญเติบโตช้า หรืออายุสั้น
- ความสามารถในการแข่งขันต่ำ โดยปลาตัวผู้ 4n อาจแข่งขันกับตัวผู้ 2n ในธรรมชาติไม่ได้ หากตัวผู้ 4n ถูกตัวผู้ 2n แย่งผสมพันธุ์ไปหมด ประสิทธิภาพของวิธีนี้จะลดลง
- อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น หากปลาที่เป็นหมัน มีพฤติกรรมดุร้าย หรือแข่งขันแหล่งอาหารกับปลาธรรมชาติ อาจทำให้สมดุลของระบบนิเวศเปลี่ยนไป ปลาที่เป็นหมันอาจมีอายุยืนยาวกว่าปลาธรรมชาติ ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร หรือความเสี่ยงอื่นๆ
สิ่งที่ต้องทำคือ แทนที่จะเร่งปล่อยปลาลงในสภาพธรรมชาติ ควรทำการทดลองในระดับห้องทดลอง และค่อยขยับไปสู่การทดลองในบ่อระบบปิดก่อน เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยต่อระบบนิเวศ
การระบาดของปลาหมอคางดำเป็นบทเรียนใหญ่สำหรับการนำเอเลียนสปีชีส์เข้ามาในระบบนิเวศและก่อให้เกิดหายนะ การแก้ปัญหานี้ต้องไม่ทำให้เกิดหายนะซ้ำรอยขึ้นอีก