เราจะชี้ให้เห็นปัญหาของรายงานวิเคราะห์ดังกล่าวที่ใช้เอกสารชวนเชื่อเพื่อโฆษณาความสำเร็จในการเข้าร่วม UPOV1991 ของ HFFA Research เรื่อง The socio-economic benefits of UPOV membership in Viet Nam มาใช้อ้างอิงนั้นว่าไม่น่าเชื่อถืออย่างไร ?
ก่อนอื่นจำเป็นต้องทราบว่า งานวิจัยที่ KKP อ้างนั้น เป็นงานวิจัยที่ริเริ่มและสนับสนุนโดย UPOV ไม่ใช่จากนักวิชาการอิสระ เป้าหมายของงานดังกล่าวคือการโฆษณาชวนเชื่อความสำเร็จของ UPOV1991 เป็นสำคัญ เนื้อหางานวิจัยดังกล่าวไม่มีอะไรซับซ้อนนอกจากบอกว่า 10 ปีหลังการเข้าร่วม UPOV1991 เมื่อปี 2006 นั้น ผลผลิตข้าว ข้าวโพด และมันเทศ ในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการอ้างความสำเร็จที่ไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง ดังนี้
1. นักวิจัย Steffen Noleppa ของ HFFA Research อ้างความสำเร็จของการเพิ่มผลผลิตข้าวและข้าวโพด โดยเปรียบเทียบผลผลิตเฉลี่ยต่อแฮกตาร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2006 และปี 2017 โดยอ้างว่าเป็นความสำเร็จเพราะเวียดนามเข้าร่วม UPOV1991 ทั้งๆที่สายพันธุ์ข้าวและข้าวโพดนั้นเกิดขึ้นมาก่อนเวียดนามเข้าร่วม UPOV เสียอีก
โดยกรณีสายพันธุ์ข้าวนั้น เกิดขึ้นจากโครงการปรับปรุงพันธุ์ของรัฐบาลเวียดนาม ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหรือข้าวโพดนั้นใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 10-15 ปี ดังนั้นพันธุ์ข้าวที่ปลูกอยู่ในช่วง 10 ปีที่ Noleppa อ้างนั้น จึงเป็นสายพันธุ์ที่มีมาก่อนระบบ UPOV การอ้างความสำเร็จว่าการเพิ่มผลผลิตเพราะมาจาก UPOV1991 จึงเป็นเรื่องเหลวไหล และทำให้สิ่งที่รายงานดังกล่าวอ้างต่อๆมาในงานวิจัยของเขาทั้งหมดจึงเชื่อถือไม่ได้
งานศึกษาของ Mau Dung Nguyen นักวิชาการจาก Vietnam National University of Agriculture ระบุว่า พันธุ์ข้าวที่ใช้ในเวียดนาม 45.6% มาจากโครงการวิจัยของรัฐ 28.6 เป็นสายพันธุ์ข้าวพันธุ์ผสมเปิดและข้าวลูกผสมจากจีน 13.2% มาจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) และ 6.3% มาจากข้าวพื้นเมือง พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ซึ่ง Noleppa ระบุว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้น 18% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ได้เกี่ยวใดๆกับการสร้างแรงจูงใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของ UPOV ( เราจึงพบว่า Noleppa หลีกเลี่ยงที่จะระบุว่าสายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV1991 ปลูกอยู่กี่สายพันธุ์ ? และมีสัดส่วนเท่าไหร่ ? ในพื้นที่ปลูกข้าวของเวียดนาม)
แน่นอนว่าปัจจัยการเพิ่มผลผลิตนั้นมีปัจจัยมาจากการพัฒนาสายพันธุ์ (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้เกิดจากระบบ UPOV) แต่ปัจจัยอื่นๆที่สำคัญที่เพิ่มผลผลิตข้าวคือ การปรับปรุงแร่ธาตุอาหารในดิน การจัดการศัตรูพืช และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบชลประทาน และเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบชลประทานดีที่สุดในอาเซียน แต่เรื่องชลประทานกลับไม่ถูกกล่าวถึงเลย เป็นต้น
2. งานวิจัยที่ KKP อ้าง HFFA Research ซึ่งระบุว่าผลผลิตข้าวโพดของเวียดนามนั้นเพิ่มขึ้น 30% ในช่วง 10 ปีของการเข้าร่วม UPOV1991 เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของ UPOV ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกันด้วย 2 เหตุผล ดังนี้
1) การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดแต่ละสายพันธุ์นั้นใช้เวลาประมาณ 10 ปีเช่นเดียวกับข้าว ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่สายพันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกอยู่ในระหว่างปี 2006-2017 จะเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นจากแรงจูงใจของ UPOV1991
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจมากกว่าคือสัดส่วนการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจากบริษัทต่างชาติกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสัดส่วนเมล็ดพันธุ์ประมาณ 26% มาจากบริษัทของรัฐ (Vinaseed และ Southern seed) แต่ 74% มาจากบริษัทข้ามชาติ เช่น ซีพี มอนซานโต้-ไบเออร์ ซินเจนทา และไบโอซีดส์ เป็นต้น โดยปัจจุบันนั้น เวียดนามยังคงมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากรวมทั้งจากประเทศไทยและอินเดีย
2) KKP อ้างการวิจัยของ HFFA เรื่องการเพิ่มผลิตต่อไร่ของข้าวโพดในเวียดนามว่าเกิดจากระบบ UPOV แต่จากสถิติเปรียบเทียบพบว่า การเพิ่มผลิตเฉลี่ยต่อไร่ระหว่างเวียดนามซึ่งเข้าร่วม UPOV1991 กับประเทศไทย และอินโดนีเซียนั้นไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด (ตามกราฟ) โดยที่ทั้งไทยและอินโดนีเซียต่างๆก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม UPOV1991
3) นอกเหนือจากข้าวและข้าวโพดแล้ว เมล็ดพันธุ์ผักที่ใช้ในเวียดนามก็มาจากการนำเข้า โดยบริษัทวิจัยการตลาด Mordor Intelligence ระบุว่าเมล็ดพันธุ์ผัก 80% ในเวียดนาม เป็นการนำเข้า จากบริษัท Sakata, Takii จากญี่ปุ่น Vilmorin จากฝรั่งเศส อีสต์เวสต์ซีดส์ (เนเธอร์แลนด์) และเจียไต๋ จากประเทศไทย เป็นต้น การอ้างว่า UPOV1991 ทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในประเทศมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่เข้าร่วมจึงเป็นที่น่าสงสัย
ในขณะที่ UPOV กล่าวอ้างความสำเร็จของเวียดนามในการปรับปรุงพันธุ์พืช แต่กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD)กลับกังวลกับการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากต่างชาติ เพราะต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศปีละหลายหมื่นตัน ทั้งพันธุ์ข้าวโพด พันธุ์ข้าว และพันธุ์ผักต่างๆ แต่ในประเทศไทยความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร และการเผชิญหน้ากับสภาวะวิกฤตกลับไม่เกิดขึ้นในหมู่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งๆที่เรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตแท้ๆ
เราเห็นบทความและรายงานวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP โดยอ้างอิงรายงานหรือเอกสารที่ขาดความน่าเชื่อถือถูกเผยแพร่มาเป็นระยะๆ ควรที่ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและเผยแพร่จะได้ทบทวนรายงานและบทความดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางนโยบายจะต้องระมัดระวังในการใช้ข้อมูลเหล่านั้น เพราะการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP นั้นเป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบระยะยาวต่อทรัพยากรชีวภาพ ระบบเกษตรกรรม และความมั่นคงทางอาหารของเรามากกว่าที่ FTA อื่นๆซึ่งประเทศไทยเคยลงนาม