นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ในช่วงแรกเมื่อปี 2018 และช็อคโลกในสมัยดำรงตำแหน่งครั้งที่สองในปี 2025 ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “Liberation Tariffs” สถานะขององค์การการค้าโลก (WTO) ในฐานะสถาบันกลางด้านกฎระเบียบการค้าโลกก็เริ่มสั่นคลอนลงเป็นลำดับ
หนึ่งในหลักการสำคัญของ WTO คือ Most-Favored-Nation (MFN) ซึ่งกำหนดให้สมาชิกต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมในด้านภาษีนำเข้า ทว่ามาตรการภาษีของทรัมป์กลับระบุอัตราที่แตกต่างกันเป็นรายประเทศ เช่น เวียดนาม 20%, สหราชอาณาจักร 10%, จีน 25%–40% ทำให้สหรัฐละเมิดหลัก MFN อย่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้การอ้างใช้ข้อยกเว้นด้านความมั่นคง (GATT Article XXI) เพื่อเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมก็ถูกคัดค้านจากหลายประเทศ และในกรณีของคดี DS544 (จีน vs สหรัฐ) WTO เคยวินิจฉัยว่าสหรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตของบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับการควบคุมการค้าเรื่องชิปและอื่นๆที่อ้างเรื่องความมั่นคง
ผลกระทบสำคัญอีกอย่างคือ การทำให้ระบบระงับข้อพิพาทของ WTO หยุดชะงักโดยสิ้นเชิงในระดับอุทธรณ์ (Appellate Body) เมื่อสหรัฐไม่อนุมัติการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ตั้งแต่ปี 2019 จนทำให้คดีที่มีการอุทธรณ์ไม่สามารถดำเนินต่อได้ ปัจจุบันมีคดีอย่างน้อย 30 คดีที่ “ตกค้าง” อยู่ในระบบอุทธรณ์ที่ไม่มีผู้วินิจฉัย
ตัวอย่างสำคัญ ที่เกี่ยวกับประเทศไทย เช่น กรณี Thailand – Cigarettes (DS371) ซึ่งเป็นคดีที่ฟิลิปปินส์อ้างว่า สินค้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ถูกประเมินในระดับที่ไม่สอดคล้องกับสินค้าภายในประเทศ ซึ่งละเมิดหลักการ MFN และ National Treatment แต่เนื่องจาก WTO’s Appellate Body หยุดทำงานในปี 2019 คดีนี้จึง “ถูกแขวนไว้” โดยไม่มีการพิจารณาต่อ
และยังมีคดีอื่นๆอีกเช่น Colombia – Textiles (DS461) และ India – Iron & Steel (DS518)เป็นต้น
เมื่อหลักการและกลไกทั้งหลายของ WTO อ่อนแอลง ประเทศต่างๆ จึงหันไปทำข้อตกลงทวิภาคี เช่น ข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม สหราชอาณาจักร หรืออินเดีย โดยตั้งอัตราภาษีแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งขัดต่อแนวทางพหุภาคีที่ WTO วางไว้ มากขึ้นๆ
เมื่อก่อนความตกลงภายใต้ WTO เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่กติกาหลายประการเอื้ออำนวยต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป เป็นต้น แต่หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่สหรัฐกำลังปฎิบัติต่อประเทศต่างๆในปัจจุบัน จะเห็นผลกระทบหนักกว่า
แต่ในด้านหนึ่งทำให้โลกตระหนักดีว่า ไม่ว่าในระบบการค้าแบบใดก็ตาม ประเทศมหาอำนาจ และประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ๆ จะเป็นผู้ควบคุมกติการค้าและเศรษฐกิจของโลกเสมอ
- Trade Wars and the WTO: Navigating Trump’s 2025 Tariffs. Atlas Institute.
- Why the US and the WTO Should Part Ways. VoxEU.
- Trump’s Tariff Thunderbolt Strikes a World with Proven Resilience.
- The Downfall of the World Trade Organization.
- WTO Dispute Settlement: DS544 – United States – Measures on Steel and Aluminium Product