มังคุด (Mangosteen) ผลไม้ยอดนิยม มีญาติพี่น้องในสกุล (genus) เดียวกันหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ป่า

โดยพืชในสกุล Garcinia อยู่ในวงศ์ Clusiaceae (ชื่อเดิม Guttiferae) ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มในเขตร้อน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ขอบใบเรียบ ใบมักมันเงา ดอกแยกเพศหรือสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกแยกจากกัน ผลมีลักษณะกลม เนื้อฉ่ำน้ำ มีเปลือกหนา เมล็ดจำนวนมาก น้ำยางหรือยางในต้นมักมีสีเหลือง-ส้ม-น้ำตาล

การกระจายพันธุ์พบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์) บางชนิดพบในอินเดีย แอฟริกา และหมู่เกาะแปซิฟิก

มีสายพันธุ์มากกว่า 300 ชนิดทั่วโลก ประเทศไทยมีรายงานชนิดในธรรมชาติมากกว่า 30 ชนิด ที่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย ยกตัวอย่างเช่น

  1. มังคุด (Mangosteen)
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia mangostana
    การใช้ประโยชน์ ผลสุกรับประทานสด รสหวานอมเปรี้ยว เป็น “ราชินีแห่งผลไม้”
    เปลือกผลใช้ตากแห้งทำยาไทย แก้ท้องเสีย สมานแผล มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง (xanthones)
  2. ส้มแขก/มะขามแขก
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia atroviridis
    การใช้ประโยชน์ ผลดิบ/แห้งใช้ปรุงรสเปรี้ยวในอาหาร (แกงส้ม, ต้มปลา) สกัดกรด hydroxycitric acid (HCA) ใช้ในผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน เป็น ยาระบายอ่อนๆ ขับพยาธิ
  3. มะพูด/มะตูมควาย
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia dulcis
    การใช้ประโยชน์ ผลสุกกินสด มีรสหวานอมเปรี้ยว ยางและเปลือกใช้เป็นสมุนไพร บางแห่งใช้ย้อมผ้า
  4. มะดัน/มะพูดบ้าน
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia schomburgkiana
    การใช้ประโยชน์ ผลดิบมีรสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวในอาหารพื้นบ้าน แปรรูปเป็นมะดันแช่อิ่ม ใบและรากบางแห่งใช้สมุนไพร
  5. ชะมวง
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia cowa
    การใช้ประโยชน์ ใบอ่อนนิยมใช้ทำ “หมูชะมวง” หรือ “แกงชะมวง” รสเปรี้ยว ผลใช้เป็นยาระบายอ่อน สารสกัดเปลือกมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์
  6. มังคุดปุ่ม/มังคุดป่า/มังคุดเหลือง
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia prainiana
    การใช้ประโยชน์ ผลสีส้มอมแดง รสหวานเปรี้ยว กินสดได้ มีศักยภาพเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ
  7. มังคุดทะเล/พวา
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia celebica (ชื่อพ้อง Garcinia hombroniana)
    การใช้ประโยชน์ ผลสีแดงเข้ม/ม่วง ใช้กินสดได้ ยางและเปลือกมีการใช้ในสมุนไพรพื้นบ้าน พบทั่วไปในป่าเขตร้อนของไทยและมาเลเซีย
  8. มะแป่ม/ชะมาง/มะดันแดง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia lanceifolia (ชื่อพ้อง Garcimia gracilis)
    การใช้ประโยชน์ ผลรับประทานได้ รสชาติเปรี้ยวจัดทั้งผลดิบและผลสุก ใบอ่อนมีรสเปรี้ยวรับประทานได้สดๆ ประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ต้มปลา ต้มเนื้อ แกงส้ม ฯลฯ เพิ่มรสเปรี้ยวมีกลิ่นหอม ราก ต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ถอนพิษไข้ แก้ไอ ผล เป็นยาระบายท้อง แก้ไข้ ละลายเสมหะ และฟอกโลหิต
  9. ส้มควาย
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia pedunculata คล้ายกับส้มแขก แต่มีผลใหญ่ เนื้อเยอะ
    การใช้ประโยชน์ สามารถปรุงอาหารได้ทั้งแบบสดๆหรือเอาไปตากแห้งได้เหมือนกับส้มแขก ส่วนใหญ่นิยมนำส้มควายไปปรุงเพิ่มรสเปรี้ยวให้อาหาร ผลส้มควาย มีสารสำคัญ HCA ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยในการระบาย และอื่นๆ
  10. ส้มแก้วสมคิด
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia siripatanadilokii เป็นพรรณไม้ที่เพิ่งค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่เมื่อเร็วๆนี้ พบบริเวณจังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดนราธิวาส
    การใช้ประโยชน์ ผลรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว เปลือกเมล็ดชั้นนอกมีเนื้อนุ่ม ยอดอ่อน ใบ และดอก ใช้ปรุงอาหาร มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ประดับ หรือไม้ผลในอนาคต
  11. มะดะหลวง
    ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia xanthochymus ลักษณะโดยทั่วไปใกล้เคียงกับมะพูด
    การใช้ประโยชน์ ผลดิบรับประทานได้หรือทำแยม รสเปรี้ยว ใช้ปรุงแต่งรสอาหาร น้ำต้มผลแห้งปรุงรสด้วยน้ำตาลใช้ดื่มแก้ตับผิดปกติ บางครั้งใช้ยางเป็นสีย้อม

พืชเหล่านี้ มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ได้อีกมาก ทั้งในเรื่องยา รวมทั้งการพัฒนามาเป็นผลไม้ โดยผ่านการคัดเลือกปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ หรือการแปรรูปไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลไม้อบแห้ง เป็นต้น แต่เสียดายที่เราไม่ได้เห็นศักยภาพของพรรณไม้เหล่านี้อย่างที่ควรจะเป็น