เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วง 2017-2021 ได้ประกาศตัดงบความช่วยเหลือระหว่างประเทศตามคำขวัญ “อเมริกาต้องมาก่อน” เช่น การตัดการสนับสนุนโครงการความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น
หากย้อนไปดูระหว่างดำรงตำแหน่งในวาระก่อนหน้านี้ นโยบายของทรัมป์เน้นไปที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรของสหรัฐฯ การลดกฎระเบียบทางธุรกิจ และการใช้การค้าสินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือทางการเมือง
เช่น
- การสนับสนุนภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยการลดข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น ยกเลิกกฎควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิด สนับสนุนการขยายพื้นที่เพาะปลูก และการใช้อาหารดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์
- สงครามการค้ากับจีน และผลกระทบต่อสินค้าเกษตร ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับจีน โดยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีน และจีนก็ตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอเมริกันโดยเฉพาะผู้ผลิตถั่วเหลือง ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่มาก่อนหน้านี้ รัฐบาลทรัมป์แก้ปัญหาด้วยการให้เงินอุดหนุนฉุกเฉินหลายพันล้านดอลลาร์แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
- การลดงบประมาณโครงการช่วยเหลือด้านอาหาร ทรัมป์พยายามลดงบประมาณโครงการช่วยเหลือด้านอาหาร เช่น SNAP (Supplemental Nutrition Assistance Program) หรือบัตรอาหาร เสนอแนวคิด “America’s Harvest Box” ซึ่งเป็นการส่งอาหารบรรจุกล่องแทนการให้เงินช่วยเหลือ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่งผลเสียต่อประชากรที่ยากจน
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ สนับสนุนอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เช่น การลดข้อจำกัดในการใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะในฟาร์มสัตว์ ช่วยเหลือบริษัทเนื้อสัตว์รายใหญ่ เช่น Tyson Foods และ JBS USA โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ได้รับผลกระทบ
- นโยบายด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ส่งผลให้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเกษตรถูกยกเลิก ลดข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับ การใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตร ผ่อนคลายข้อบังคับเกี่ยวกับแหล่งน้ำสะอาด (Clean Water Rule) ซึ่งเดิมมีเป้าหมายป้องกันมลพิษจากภาคเกษตร
ผลกระทบต่อประเทศไทย
การถูกกดดันให้นำเข้าสินค้าเกษตร
โดยเหตุที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐเป็นจำนวนมาก คาดว่าสหรัฐจะกดดันให้ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี จากสหรัฐ และรวมไปถึงเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมู
แต่โดยเหตุที่การนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยภาคเอกชน ดังนั้นเป็นไปได้ว่า รัฐบาลไทยอาจมีมาตรการบางอย่างที่เอื้ออำนวยต่อภาคเอกชนรายใหญ่เป็นการตอบแทนเพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวซึ่งเคยนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล หรืออาร์เจนตินา เป็นต้น
ผลกระทบในกรณีนี้ น่าจะกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือข้าวสาลี ล้วนเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญที่ประเทศไทยต้องนำเข้า การกดดันของสหรัฐอาจมีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้ไทยต้องนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าว ทั้งรวมทั้งเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมู หากสหรัฐกดดันให้ต้องเปิดรับเนื้อหมูซึ่งประเทศไทยกำหนดการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง
นโยบายเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
โดยเหตุที่ทรัมป์และคณะทำงานของเขาใกล้ชิดกับบริษัทยักษ์ใหญ่สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น ดาวเคมิคอล เป็นต้น หากประเทศไทยมีนโยบายที่แบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐ เช่น ไกลโฟเซท เป็นต้น น่าจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งในสมัยนั้น รัฐบาลสหรัฐส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการเกษตรของเขาเข้ามาพบรัฐมนตรีของไทยโดยตรงเลย

พืชจีเอ็มและพืชตัดแต่งยีน และ UPOV1991
ที่น่ากังวลคือ มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐจะกดดันประเทศไทยทั้งโดยตรง และผ่านสมาคมการค้าต่างๆให้ประเทศไทยเปิดรับเมล็ดพันธุ์จีเอ็ม หรือเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการตกแต่งยีน (gene editing) ไปจนถึงการผลักดันระบบกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV1991 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวมากสำหรับประเทศไทย
การผลักดันในทั้งสองเรื่องนี้ ที่จริงสอดคล้องกับแรงผลักดันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และอาหารสัตว์ในประเทศไทย และที่จริงคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลก็มีแนวโน้มในการสนับสนุนแนวทางดังกล่าว
รัฐบาลสหรัฐคงจะผลักดันเรื่องทั้งหมดโดยตรงต่อรัฐบาลไทยหรือผ่านพวกสมาคมการค้าต่างๆ โดยคาดว่าจะมีหลายเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมระหว่างสหรัฐกับกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร อาหาร และสารเคมีการเกษตร ในประเทศไทย
ส่วนผู้ได้รับผลกระทบ น่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อยหลายอาชีพ เช่น ผู้ปลูกข้าวโพด และผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง และเกษตรกรส่วนใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบระยะยาวจากการผลักดันกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา UPOV1991 ที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์แพงขึ้น และสิทธิการเก็บรักษาสายพันธุ์เพื่อปลูกต่อจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป