ตัวแทนประชาชนจาก 19 จังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำและผู้สนับสนุนรวมกันกว่า 200 คน รวมพลบริเวณถนนสีลม เดินทางด้วยเท้าจากหน้าตึกสีลมคอมเพล็กซ์ไปยังตึกซีพีทาวเวอร์ โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่เสื้อยืดภาพปลาเล็กรวมพลังขับไล่ปลาใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องให้บริษัทซีพีเอฟแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ พร้อมป้ายข้อความเรียกร้องต่างๆเช่น “ผู้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ”  “ใครเอาเข้ามา ก็เอาคืนไป”


นายธีระ วงษ์เจริญ ผู้นำเกษตรกรจากจังหวัดจันทบุรี อ่านคำแถลงเรียกร้องให้ซีพีเอฟซึ่งเป็นเอกชนรายเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาเมื่อปี 2553 และต่อมาพบการระบาดในบริเวณคลองติดกับฟาร์มและใกล้ฟาร์ม ให้แสดงความรับผิดชอบ  “ซีพีเอฟแถลงเมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมาว่า เฉพาะไตรมาส  3 บริษัทมีผลกำไรมากถึง 7.3 พันล้านบาท ในฐานะบริษัทมหาชน ควรแบ่งผลกำไรเหล่านั้นคืนสู่สังคมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือกรณีอื่นๆ เช่น ฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นต้น” นายธีระกล่าว

หลังจากอ่านคำแถลงที่หน้าซีพีทาวเวอร์แล้ว  เครือข่ายของประชาชนได้เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลบริเวณประตู 2 มีการปราศรัย เกี่ยวกับสถานการณ์ผลกระทบของปลาหมอคางดำที่ขณะนี้ได้ระบาดไปอย่างกว้างขวางมากกว่าเดิม ทั้งในพื้นที่เดิม เช่น บริเวณบางขุนเทียน กทม. สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ภาคตะวันออกในจังหวัดจันทบุรี

นายสามารถ สะกวี จากเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ภาคใต้ระบุว่า “ขณะนี้ปลาหมอคางดำได้ระบาดอย่างหนักในพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง ในจ.นครศรีธรรมราช ยันคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ทำลายสายพันธุ์ปลาท้องถิ่นแทบหมดสิ้น เชื่อว่าขณะนี้ปลาหมอคางดำกำลังพักตัวและจะระบาดในทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นฮอตสปอตหรือศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญของไทยและของโลกในไม่ช้า”  “รัฐบาลต้องรีบจัดการปัญหาของประชาชน ไม่ใช่คล้อยตามกลุ่มทุนใหญ่ที่พยายามผลักดันให้คนไทยอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อาจรับได้” นายสามารกล่าว


ในเวลาประมาณ 13.30 น. นายปัญญา โตกทอง แกนนำของเกษตรกร จากจ.สมุทรสงคราม ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อคือ  

1) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อสืบสวน สอบสวน หาผู้กระทำความผิดในการทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

2) ขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการให้มีการเยียวยาเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการด่วน โดยขอให้จังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

3) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ และคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อขจัดปลาหมอคางดำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งเป้าหมายให้ขจัดปลาหมอคางดำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2569  จัดหางบประมาณให้เพียงพอ

และ 4) เมื่อผลการสอบสวนสืบสวนแล้วเสร็จและพบผู้กระทำความผิด ให้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ก่อปัญหาต้องชดใช้ เยียวยาความเสียหาย เพื่อไม่เป็นการเบียดบังงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ


“เราเรียกร้องให้นายกรัฐนตรีและคณะรัฐมนตรีบรรจุวาระเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งถัดไป และมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการ 3 ข้อแรกภายใน 15 วัน” นายปัญญา กล่าว

หลังจากยื่นหนังสือต่อตัวแทนรัฐบาลที่ทำเนียบแล้ว ตัวแทนของเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ยังได้เดินทางไปยังรัฐสภา โดยได้ยื่นหนังสือต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร  ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้พิจารณาเพื่อดำเนินการศึกษา เสนอแนวทาง และเร่งรัดการแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ และยื่นหนังสืออีกฉบับต่อ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์  สภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอให้เร่งรัดการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ ก่อนที่ตัวแทนจากแต่ละจังหวัดเดินทางกลับภูมิลำเนา นายธีระ แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า “ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำนั้น นักวิชาการระบุว่าเป็นหายนะต่อระบบนิเวศครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมของไทย แต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆกลับไม่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เราจะให้เวลารัฐบาล 15 วัน ถ้ายังคงเงียบเฉย ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ 19 จังหวัดจะระดมพลครั้งใหญ่ พร้อมปลาหมอคางดำหลายตันมาเทหน้าทำเนียบ”


จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี

วันที่ 13 มกราคม 2568
เรื่อง ขอให้แก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างเร่งด่วน
เรียน นายกรัฐมนตรี

อ้างอิงถึง
1. รายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับเลขที่ 171/2561
2. สรุปรายงานการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าของปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร
3. ข่าวเผยแพร่ สภาทนายความยื่นฟ้องคดีปลาหมอคางดำต่อศาลกรุงเทพใต้ https://www.lawyerscouncil.or.th/2019/2024/09/05/3-369/

ตามที่เกิดปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ขึ้นในประเทศไทยหลังจากบริษัทเอกชนได้ขออนุญาตกรมประมงเข้ามาเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2553 ที่ จ.สมุทรสงคราม และต่อมาได้พบการระบาดในคลอง 7 คลองใกล้ฟาร์มของเอกชนดังกล่าว จนบัดนี้ได้ขยายการระบาดออกไปถึง 19 จังหวัด ได้แก่ 1.จันทบุรี 2.ระยอง 3.ฉะเชิงเทรา 4.สมุทรปราการ 5.นนทบุรี 6.กรุงเทพมหานคร 7.นครปฐม 8.ราชบุรี 9.สมุทรสาคร 10.สมุทรสงคราม 11.เพชรบุรี 12.ประจวบคีรีขันธ์ 13.ชุมพร 14.สุราษฎร์ธานี 15.นครศรีธรรมราช 16.สงขลา 17.ชลบุรี 18.พัทลุง และ 19.ปราจีนบุรี สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร ชุมชน ประชาชน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความมั่นคงทางอาหารโดยรวมอย่างร้ายแรง

โดยในปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศให้การระบาดของปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ มีการอนุมัติกรอบงบประมาณ 450 ล้านบาท และมีโครงการจับปลาหมอคางดำโดยรับซื้อเพื่อทำปุ๋ยชีวภาพ และปล่อยปลานักล่า เป็นต้น แต่กลับไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนขณะนี้ปลาหมอคางดำได้ขยายระบาดออกไปเพิ่มขึ้นสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างหนัก ปลาหมอคางดำแย่งกินอาหารในบ่อ และคลองธรรมชาติ กินแพลงค์ตอน สัตว์น้ำวัยอ่อน จนกุ้ง ปลา หอย และปูที่เลี้ยงในบ่อถูกทำลายจนหมด รวมไปถึงสัตว์น้ำอื่นในแหล่งน้ำธรรมชาติ เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติบริเวณใกล้ชายฝั่งจำนวนมากได้รับผลกระทบ เช่น ต้องเป็นหนี้สิน สูญเสียที่ดิน และบางรายถึงขั้นต้องฆ่าตัวตาย เฉพาะที่ จ.สมุทรสงคราม ความเสียหายจากการรวบรวมข้อมูลของสภาทนายความระบุว่า เกษตรกรได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,486 ล้านบาท ส่วนความเสียหายทั้งระบบที่มีต่อประชาชนและระบบนิเวศมหาศาลนั้นอาจสูงหลายแสนล้านบาทหรือมากกว่าไม่อาจประเมินค่าได้ จนนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่าเป็น “หายนะต่อระบบนิเวศครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย”

นอกจากนี้ จนถึงปัจจุบัน กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มิได้ดำเนินการรวบรวม ข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ชัดเจน เพื่อหาผู้กระทำความผิด ที่ต้องรับผิดชอบต่อการระบาดของปลาหมอคางดำ และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศน์ ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน 19 จังหวัด รวมถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องเสียไปในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย “ ทั้งๆที่มีรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับเลขที่ 171/2561 และสรุปรายงานการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าของปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว

โดยมีเพียงตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขตอำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวนกว่า 1,400 คน ได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกับกรรมการบริหารรวม 9 คน ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม โดยเหตุที่บริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตและนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากประเทศกานาคือ ปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำอันตรายต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำท้องถิ่น เข้ามาทดลองพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทฯที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์น้ำอันตราย ทำให้เกิดการหลุดรอดของปลาหมอคางดำจากแหล่งเพาะเลี้ยงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล รายละเอียดปรากฎตาม ข้อมูลเผยแพร่ ในเว็ปไซด์ของสภาทนายความ สภาทนายความยื่นฟ้องคดีปลาหมอคางดำต่อศาลกรุงเทพใต้ https://www.lawyerscouncil.or.th/2019/2024/09/05/3-369/

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเนินไปอย่างจริงจัง มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เครือข่ายองค์กรประชาชนจึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อสืบสวน สอบสวน หาผู้กระทำความผิดในการทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และคณะกรรมการ ต้องมีอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย และต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทเอกชน โดยอย่างน้อยกึ่งหนึ่งให้แต่งตั้งจากรายชื่อของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอิสระที่เสนอชื่อโดยเครือข่ายฯ
2) ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการให้มีการเยียวยาเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่ซึ่งกรมประมงได้ประกาศเป็นพื้นที่การระบาดแล้วรวม 19 จังหวัด (หรือมากกว่าหากเกิดการะบาดเพิ่ม) โดยขอให้จังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๖๒ และ/หรือตามหลักเกณฑ์อื่นใดที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
3) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ และคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อขจัดปลาหมอคางดำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งเป้าหมายให้ขจัดปลาหมอคางดำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2569 จัดหางบประมาณให้เพียงพอต่อภารกิจดังกล่าว โดยงบประมาณเฉพาะการขจัดปลาหมอคางดำต้องไม่ต่ำกว่า 3 เท่าของงบประมาณต่อปีที่ใช้กำจัดผักตบชวา คณะกรรมการระดับชาติต้องมีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากทุกจังหวัดเข้าร่วม และต้องกระจายอำนาจและงบประมาณให้คณะทำงานระดับจังหวัดสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง
4) เมื่อผลการสอบสวนสืบสวนของคณะกรรมการในข้อ 1 แล้วเสร็จและพบผู้กระทำความผิด นายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีต้องมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือเกี่ยวข้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ก่อปัญหาต้องชดใช้ เยียวยาความเสียหาย และฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาคงเดิม ตามหลักการที่ผู้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบและเป็นผู้จ่าย และเพื่อไม่เป็นการเบียดบังงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ

จึงเรียนมาเพื่อนายกรัฐนตรีโปรดพิจารณาดำเนินการบรรจุวาระเกี่ยวกับการจัดการปัญหาภัยพิบัติร้ายแรงนี้ตามข้อเสนอดังกล่าวต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งถัดไป และมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องแจ้งต่อตัวแทนเครือข่ายฯภายใน 15 วัน หลังจากได้รับหนังสือฉบับนี้ ก่อนที่ปัญหาร้ายแรงจะลุกลามขยายออกไปยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ


จดหมายเปิดผนึก

ถึงนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์(เครือซีพี)
นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และคณะกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
จํากัด(ซีพีเอฟ)

ในฐานะเกษตรกรและชุมชนจากจังหวัดต่างๆ 19 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของปลาหมอคางดํา มายื่นหนังสือฉบับนี้เพื่อเรียกร้องต่อบริษัท ซีพีเอฟ ในฐานะที่เป็นเอกชนเพียง รายเดียวที่นําเข้าปลาหมอคางดํา ให้แสดงความรับผิดชอบต่อการระบาดของปลาหมอคางดําที่ เริ่มต้นการระบาดจากคลอง 7 คลองซึ่งติด/ใกล้ฟาร์มยี่สารของ ซีพีเอฟ มานับตั้งแต่ปลายปี 2554-2555 และบัดนี้ได้ลุกลามขยายออกไปรวม 19 จังหวัดแล้ว ดังรายละเอียดที่เผยแพร่ โดยทั่วไปของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึง ผลกระทบจากการนําเข้าปลาหมอคางดําเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย สภาผู้แทนราษฎร และกรมประมง

เราขอเรียกร้องต่อเครือซีพีและบริษัทซีพีเอฟดังต่อไปนี้
1) ขอเรียกร้องให้เครือซีพีและบริษัท ซีพีเอฟ เคารพกฎหมายและหลักเกณฑ์ความปลอดภัย ทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด ในการนําเข้าสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) ไม่ให้เกิดกรณีการนําเข้าที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนําเข้าสัตว์น้ํา ต่างถิ่นที่กําหนดโดยคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ (กรมประมง) ขึ้นอีก
2) ซีพีเอฟ แถลงเมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมาว่า เฉพาะไตรมาส 3 บริษัทมีผลกําไรมากถึง 7.3 พันล้านบาท ในฐานะบริษัทมหาชน ควรแบ่งผลกําไรเหล่านั้นคืนสู่สังคมเพื่อแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดํา หรือกรณีอื่นๆ เช่น ฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นต้น
3) ในฐานะบริษัทที่มีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับ นานาชาติ ควรเปลี่ยนการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อบริษัทในเชิงบวก มากกว่าการใช้กลไกทางกฎหมายในการฟ้องร้องหรือแจ้งความดําเนินคดีกับประชาชนหรือ องค์กรที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อยับยั้งการแสดงความคิดเห็น

ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดํา เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ และเป็น “หายนะต่อระบบนิเวศครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม” ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยัง ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และในอนาคตสถานการณ์จะยิ่งทวีความร้ายแรงของปัญหายิ่งขึ้นไป อีก เช่น การขยายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค เราจึงขอเรียกร้องให้บริษัทฯ และเครือบริษัทฯ ซึ่งมีกําไรมหาศาลไม่เพิกเฉยต่อปัญหานี้และร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และเราขอเรียกร้องให้ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประธานกรรมการ รวมทั้ง คณะกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด(มหาชน) ซึ่งหลายท่านเป็นอดีตข้าราชการชั้น ผู้ใหญ่ แสดงบทบาทอย่างที่บริษัทธรรมาภิบาลควรจะเป็น เพื่อร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจังและ จริงใจ


ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ