ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 270 เท่า ในระยะเวลา 100 ปี และมีสัดส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเป็นอันดับสามรองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน

แหล่งกำเนิดก๊าซไนตรัสออกไซด์แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ หรือภูเขาไฟระเบิด และที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี อุตสาหกรรมเคมี รวมถึงการตัดไม้เผาป่า

จากการศึกษาพบว่าในช่วงปี 1980 ถึง 2020 กิจกรรมของมนุษย์เพียงอย่างเดียวปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้น 40% โดยภาคเกษตรมีส่วน 74% ของการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ทั้งหมดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซไนไนตรัสออกไซด์ในภาคการเกษตร

ศ.ฮานคิน เทียน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่วิทยาลัยบอสตันและผู้เขียนหลักของการศึกษาชิ้นนี้ ให้สัมภาษณ์กับ Carbon Brief ว่าจากการศึกษาสังเหตได้ว่าการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ตามธรรมชาตินั้นมีอัตราค่อนข้างคงที่ ตรงข้ามกับการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากกิจกรรมมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในปี 2020 จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล และรัสเซีย ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์มากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ขณะที่การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ลดลงอันเป็นผลมาจากการควบคุมอุตสาหกรรมเคมีและการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานมีมติเห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ “โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง”

โครงการนี้รัฐบาลจะจ่ายค่าปุ๋ยให้ครึ่งหนึ่งและชาวนาออกที่เหลืออีกครึ่ง ใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท ซึ่งย้อนแย้งกับนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่รัฐตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 2 ล้านไร่ ในปี 2570