สิ่งที่โฆษกรัฐบาล ได้เผยแพร่ข้อดี 6 ประการของซีพี และแก้ต่างว่ากิจการของซีพี โดยเฉพาะร้านค้าปลีกเซเว่นอิเลฟเว่นไม่ได้มีอิทธิพลเหนือตลาด นั้น สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของรัฐไทยในการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า และป้องกันการผูกขาด

ในระบบเศรษฐกิจการตลาด การส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า เป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคได้สินค้าที่ดีในราคายุติธรรม และไม่กีดกันผู้ประกอบการอื่นในการเข้าสู่ตลาด แต่รัฐไทยกลับยินยอมให้มีการควบรวมกิจการ ที่ทำให้กิจการที่มีอิทธิพลเหนือตลาดอยู่แล้ว ผูกขาดยิ่งขึ้นไปอีก ดังกรณีร้านเซเว่นที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ขยายมากไปถึง 83%
อย่าว่าแต่ครอบครองตลาดเกิน 35% เลย แม้ต่ำกว่านั้น แต่ถ้ามีการควบรวมกิจการแล้วทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง การแข่งขันในระดับพื้นที่ลดลง รัฐต้องเข้ามาแทรกแซง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ลดอิทธิพลเหนือตลาด และป้องกันการผูกขาด
ตัวอย่างล่าสุดคือกรณี คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission – FTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ยื่นฟ้องเพื่อคัดค้านดีลควบรวมกิจการมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐ Kroger และ Albertsons ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 10.7% และ 7.2% เมื่อรวมกันแล้ว มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 17.9% เป็นต้น (ข้อมูล ณ 2023 โดย Mcmillan Doolittle)

เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ก่อนหน้านี้
การซื้อกิจการ Speedway ของ 7-อีเลฟเว่น ในสหรัฐถูกชี้โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของที่นั่นว่าผิดกฎหมาย เพราะแม้ส่วนแบ่งหลังการควบรวมกิจการ มีสัดส่วนรวมกันเพียงแค่ 8.5 % แต่ในระดับพื้นที่ เมื่อ Speedway หายไปทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคอเมริกันลดลง
เช่นเดียวกับกรณี ASDA ขอซื้อ Sainsburys ในสหราชอาณาจักร หรือ กรณี Edeka ซื้อ Kaiser’s ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก็เช่นกัน ต่างได้รับการปฏิเสธจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเพราะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง และเปิดทางให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม

