ทุเรียนลอยน้ำของคุณตาปี๊ด สินเธาว์ บ้านโบอ่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ ที่ปลูกทุเรียนในแพลูกบวบไม้ไผ่ ลอยอยู่ในน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ จนออกดอกให้ผลผลิต ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของเกษตรกรในการจัดการปรับปรุงระบบนิเวศให้เอื้อต่อการทำการเกษตร ทำให้นึกถึงแปลงผักลอยน้ำของชาวบังคลาเทศและพม่า และแปลงเกษตรลอยน้ำ Chinampa ของชาวเอซแท็ค
นิเวศเกษตรรวบรวมภาพ “การทดลอง” ของเกษตรกร เห็นเส้นทางนวัตกรรมของเกษตรกรรุ่นแล้วรุ่นเล่า วิถีแบบเดียวกันนี้เองที่ทำให้เราเห็นการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน “สวนยกร่อง” ในพื้นที่น้ำท่วมถึงในการปลูกทุเรียน ไม้ผล และพืชพรรณต่างๆบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จนกลายเป็นหนึ่งในระบบเกษตรกรรมที่มีคุณค่าทางนิเวศ ทั้งในอดีตปัจจุบันและต่ออนาคต
ทางแยกของการปรับตัวของระบบเกษตรกรรม อาจเดินทางในในทิศทาง 2 แบบที่แทบไม่เหมือนกันเลย แบบหนึ่งคือการปรับตัวที่ยังรักษาฟื้นฟูและกลมกลืนไปกับระบบนิเวศ เช่นเดียวกับระบบสวนยกร่องของไทย Chinampa ของเม็กซิโก หรือในอีกทางหนึ่ง คือระบบไฮโดรโปนิกส์ ที่เอาพืชไปปลูกในสารเคมีละลายน้ำ ควบคุมแสงและอุณหภูมิที่ต้องใช้ปัจจัยภายนอกอย่างเข้มข้น
ระบบแบบไหนที่เป็นคำตอบของมนุษยชาติในโลกของ “การแตกสลายของระบบเกษตรกรรมและอาหาร” ซึ่งเป็นประโยคที่เลขาธิการ UN พูดเมื่อเร็วๆนี้







