ผลผลิตมะพร้าวหลังผ่านหน้าร้อนและแล้งที่ผ่านมาลดลงอย่างมาก โดยคาดว่าในบริเวณแหล่งปลูกสำคัญในภาคกลางซึ่งเป็นมะพร้าวน้ำหอม ผลผลิตลดลงถึง 90% ส่วนบริเวณที่ปลูกมะพร้าวแกงโดยเฉพาะแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผลผลิตมะพร้าวลดลงเกือบ 70%
การศึกษาโดย K. B. Hebbar และคณะจาก ICAR, Kerala, อินเดีย และ Kansas State University, สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2020 พบว่าอุณหภูมิที่สูงเกิน 33 องศาเซลเซียสส่งผลกระทบทำให้ละอองเรณูของเกสรมะพร้าวไม่สามารถเจริญเติบโตไปตามท่อเกสรตัวเมียไปยังรังไข่ทันเวลาการปฏิสนธิอย่างมีนัยสำคัญ
คณะนักวิจัยยังพบว่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นน้ำหวานที่เกสรตัวเมียจะแห้งเร็ว (ดูภาพประกอบในคอมเม้นท์) ทำให้ไม่ดึงดูดให้แมลงมาผสมเกสรอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของโลกซึ่งทำให้เกิดระดับอุณหภูมิสูงสุดติดต่อกันแทบทุกปี จึงส่งผลกระทบระยะยาวต่อมะพร้าวและชาวสวนมะพร้าว
มีข่าวดีเล็กๆที่นักวิจัยค้นพบระบุว่า ในพื้นที่มีความชื้นสูงอาจยืดเวลาการเติบโตของละอองเรณูเกสรได้ นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่มะพร้าวที่ปลูกในบริเวณที่มีความชื้นสูงจะได้รับผลกระทบน้อยกว่ากับมะพร้าวที่ปลูกในพื้นที่ความชื้นน้อยกว่า



อ่านเพิ่มเติม
- 1) Understanding Physiology and Impacts of High Temperature Stress on the Progamic Phase of Coconut(Cocos nucifera L.), Plants (Basel). 2020 Dec; 9(12).
- Variation in yield and yield components of different coconut cultivars in response to within year rainfall and temperature variationScientia, Horticulturae Volume 238, 19 August 2018, Pages 51-57.